สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินศึกษา
ผู้ตรวจการแผ่นดิน TH EN twitter สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน Youtube สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน
เรื่องร้องเรียนที่สำคัญ >> เรื่องร้องเรียน >> ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ย้ำ !!! การแก้ไขปัญหาถือครองที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลาน ยึดถือความถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อประชาชน

วันที่ 19 ต.ค. 2566
 

กรณีการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน สืบเนื่องมาจากประชาชนในพื้นที่อำเภอปักธงชัย อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี และอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในระหว่างปี พ.ศ. 2554 และ 2561 ว่าได้รับ ความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรมจากกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่ดินที่ประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิม และมีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนโดยอาศัยเส้นแนวเขตที่บกพร่องคลาดเคลื่อน

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงแผนที่เพื่อจัดทำรูปแผนที่ที่ทับซ้อนกันของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และประชุมหารือร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปี พ.ศ. 2524 กรมป่าไม้ได้นำที่ดินที่มิได้มีสภาพเหมาะสม คือ เป็นพื้นที่ชุมชนและป่าเสื่อมโทรมจากการให้สัมปทานทำไม้หวงห้ามแก่เอกชน มากำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 อีกทั้งในการดำเนินการดังกล่าวรัฐมิได้เข้าสำรวจรังวัดพื้นที่จริง ส่งผลให้การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยเดิม ซึ่งปรากฏหลักฐาน การจัดตั้งหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 และบางส่วนเป็นพื้นที่ ที่รัฐได้อพยพราษฎรที่อยู่อาศัยอย่างกระจัดกระจายในพื้นที่ป่าไม้มาอยู่รวมกันด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง โดยให้คำมั่นแก่ราษฎรว่าจะจัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัยทำกิน มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านชื่อว่า "บ้านไทยสามัคคี” นอกจากนี้การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าวยังทับซ้อนกับพื้นที่ดำเนินโครงการอื่น ๆ ของรัฐ ซึ่งรัฐก็ได้ยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาปรับปรุงแนวเขตมาโดยตลอด

ปี พ.ศ. 2533 กอ.รมน.ภาค 2 ได้เสนอให้กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) แก้ไขปรับปรุงแนวเขต และมีคำสั่งให้แก้ไขปรับปรุงแนวเขตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 อีกทั้งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงแนวเขต ซึ่งกระบวนการดังกล่าวส่วนราชการ ชุมชน และราษฎรในพื้นที่ ได้ร่วมกันดำเนินการสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และฝังหลักเขตอุทยานแห่งชาติทับลานร่วมกันเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดเป็นเส้นแนวเขตอย่างถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงและยอมรับร่วมกัน ทุกภาคส่วนในปี พ.ศ. 2543 แต่ต่อมามีการปฏิรูประบบราชการและจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2545 จึงมิได้มีการดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องและตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตให้แล้วเสร็จ จึงไม่เกิดผลบังคับใช้ทางกฎหมายส่งผลให้ไม่เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อีกทั้งในปี พ.ศ. 2548 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยังคงยืนยันการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มีหนังสือให้คำมั่นต่อศูนย์มรดลโลก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนแหล่างมรดกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ว่าจะมีการปรับปรุงแนวเขตอย่างแน่นอน

ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 6สิงหาคม 2562 โดยเสนอแนะให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการแก้ไขปรับปรุง แนวเขตให้ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง โดยยึดถือแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี พ.ศ. 2543 และตราพระราชกฤษฎีกาให้เกิดผลบังคับในทางกฎหมาย จากนั้นให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพื่อยกเลิก เขตป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ แล้วส่งต่อให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการจัดทำที่ดินทำกินให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พร้อมเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม มติคณะรัฐมนตรี ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ดังนี้

  1. รับทราบคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะ (กรณีปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน) ของผู้ตรวจการแผ่นดิน และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักรับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งความเห็น และข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
  2. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดการดำเนินการตามนัยมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้แล้วเสร็จและมีผลใช้บังคับโดยเร็วต่อไป
  3. ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เร่งรัดการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินรัฐ โดยการปรับปรุง แผนที่แนวเขตที่ดินรัฐใหม่ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดำเนินการโดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ร่วมกันหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินรัฐทุกหน่วยงาน โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ ทั้งนี้ ได้นำเสนอมติที่ประชุมของคุณอนุกรรมการฯ ให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และคณะรัฐมนตรีทราบและมีมติต่อไป

ต่อมา ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งผลการประชุมที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
  1. เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกันตรวจสอบข้อมูลพื้นที่ของจุดที่ไม่ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และเร่งรัดดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำแนวกันชน (Buffer Zone) ที่ชัดเจน เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของพื้นที่มรดกโลกและสภาพพื้นที่ป่าไม้ ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
  2. เห็นชอบการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและการพิจารณาของศาลแต่อย่างใด และกำหนดแนวทางการคุ้มครองการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่ได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย
  3. เห็นชอบการดำเนินงานในพื้นที่ที่กันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินตามแนวทาง คทช. หรือตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมแล้วแต่กรณี โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และระเบียบ สำหรับพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ผนวกประมาณ 110,000 ไร่ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
  4. เห็นชอบการดำเนินงานของภาครัฐในการประกาศหวงห้ามเขตที่ดินของรัฐ ให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และมีส่วนร่วมในการดำเนินการของภาครัฐ และหากประชาชนอยู่ในที่ดินของรัฐ ก็ควรเร่งรัดให้เกิดการพิสูจน์สิทธิตามมาตรการที่ คทช. กำหนด
  5. มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 คณะรัฐมนตรีจึงได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบ ตามความเห็นของที่ประชุม คทช. ในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ และมติคณะรัฐมนตรีอื่นที่เกี่ยวข้อง
จากการณีการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ผู้ตรวจการแผ่นดินถือเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการขจัดหรือระงับความเดือดร้อนและความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และเป็นการทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม โดยยึดหลักนิติธรรมและหลักความเสมอภาคเป็นที่ตั้ง
« เมษายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด
ลิงค์ที่น่าสนใจ เว็บไซต์องค์กรตามรัฐธรรมนูญ


   หน้าหลัก
    • ข่าวและประกาศ
    • ภาพกิจกรรม

   เกี่ยวกับเรา
    • ประวัติความเป็นมา                
    • โครงสร้างองค์กร 
    • ภารกิจ
    • บุคลากร

   วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน
    • เกี่ยวกับเรา                            
    • วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน 
    • ส่งบทความ
    • ข้อแนะนำการส่งบทความ
    • กองบรรณาธิการ
    • ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ
    • ติดต่อเรา

   ความร่วมมือ
    • ภายในประเทศ
    • ต่างประเทศ

   แผ่นพับ

   ติดต่อเรา
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550  อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 5 เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 แขวง ทุ่งสองห้อง เขต หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
หมายเลขโทรศัพท์ (สผศ.) : 0-2141-9383 และ 0-2141-9295 , หมายเลขโทรสาร (สผศ.) : 0-2143-9385
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์