สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินศึกษา
ผู้ตรวจการแผ่นดิน TH EN twitter สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน Youtube สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน
เรื่องร้องเรียนที่สำคัญ >> เรื่องร้องเรียน >> หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
รัฐยกระดับคุณภาพและการคุ้มครองอาชีพมัคคุเทศก์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

วันที่ 1 มี.ค. 2566

รัฐยกระดับคุณภาพและการคุ้มครองอาชีพมัคคุเทศก์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน

          ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอรายงานของผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เรื่อง คุณภาพและการคุ้มครองอาชีพมัคคุเทศก์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 230 (3)
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ดังต่อไปนี้

          1. เสนอแนะให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำหนดมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้
               1.1 เพิ่มเติมมาตรการในการตรวจสอบเชิงลึกเพื่อป้องกันปัญหาชาวต่างชาติใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพรางหรือนอมินี (Nominee) ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและมาตรการป้องกันปัญหาบริษัทนำเที่ยวไม่เก็บค่าบริการขั้นต่ำหรือทัวร์ศูนย์เหรียญ เพิ่มมาตรการให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวแสดงข้อมูลทางการเงิน เอกสารเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวภายหลังจากได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจแล้วและแสดงรายละเอียดของมัคคุเทศก์ที่ปฏิบัติงานในบริษัทนำเที่ยวด้วย
               1.2 กำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์เข้าไปมีบทบาทในการกำหนดนโยบายมาตรฐานอาชีพ โดยกำหนดให้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะพัฒนานโยบายผ่านคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์และเพิ่มสัดส่วนให้ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ในคณะกรรมการดังกล่าวให้เหมาะสมมากขึ้น
               1.3 กำหนดมาตรการส่งเสริมและรณรงค์ให้บริษัทนำเที่ยวมิให้จัดการนำเที่ยว โดยไม่มีใบอนุญาตหรือประกอบธุรกิจระหว่างที่ถูกพักใบอนุญาตการแสดงใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว และห้ามมิให้บริษัทนำเที่ยวว่าจ้างมัคคุเทศก์ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามประเภทใบอนุญาตหรือไม่มีใบอนุญาตและห้ามมิให้ว่าจ้างชาวต่างชาติมาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ พร้อมกับรณรงค์ให้ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์แต่งกายสุภาพและติดบัตรขณะปฏิบัติงาน
               1.4 กำหนดมาตรการสร้างความมั่นคงของอาชีพมัคคุเทศก์โดยพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสภาอาชีพมัคคุเทศก์ขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดความเป็นเอกภาพของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์

          2. เสนอแนะให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวและกรมการท่องเที่ยว บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและมีพฤติกรรมหลอกลวงนักท่องเที่ยวรวมถึงชาวต่างชาติที่ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ในประเทศไทย

          3. เสนอแนะให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมมัคคุเทศก์และการทดสอบความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ดังนี้
               3.1 ปรับปรุงหลักสูตรการอบรมมัคคุเทศก์ โดยเพิ่มชั่วโมงการปฏิบัติงานในสถานที่จริงหัวข้อวิชาความรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อและการสาธารณสุขเบื้องต้น หัวข้อวิชาการดูแลความปลอดภัยและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและหัวข้อวิชาการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นต้น
               3.2 กำหนดมาตรการติดตามประเมินผลการฝึกอบรมและการทดสอบความรู้ความสามารถผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทนำเที่ยวและนักท่องเที่ยวต่ออาชีพมัคคุเทศก์ในระดับที่สูงขึ้น

          4. เสนอแนะให้มีการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายและระดับจังหวัด โดยให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์และผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพและลดช่องว่างของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

          สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ นร 0507/ว(ล) 30653 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กระทรวงแรงงานและกระทรวงยุติธรรม เสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เรื่อง รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กรณีหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และหน่วยงานดังกล่าวได้ให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ดังนี้

          สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายกลางในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเป็นการทั่วไป การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องราวร้องทุกข์กรณีธุรกิจท่องเที่ยวที่มีพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๑๑ บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะดำเนินการส่งเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวให้กรมการท่องเที่ยวเพื่อดำเนินการตามหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะต่อไป และเห็นควรให้พิจารณากำหนดมาตรการหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

          สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ขณะนี้ได้ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติข้อมูลผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง พ.ศ. .... และอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งหากมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้เกิดความโปร่งใสของนิติบุคคลโดยเฉพาะความโปร่งใสของผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง อาจส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาชาวต่างชาติใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพรางหรือนอมินี (Nominee) ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพื่อหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ปัญหาจากมาตรการป้องกันบริษัทนำเที่ยวไม่เก็บค่าบริการขั้นต่ำหรือทัวร์ศูนย์เหรียญและการหลอกลวงนักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าไม่มีคุณภาพและเช่าวัตถุมงคลในราคาที่สูง หากสามารถกำหนดมาตรการในการตรวจสอบให้สอดคล้องตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินจะทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สามารถป้องกันปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          นอกจากนี้ปัญหาการเปิดบริษัททัวร์บังหน้าเพื่อกระทำความผิดมูลฐานต่าง ๆ เช่น กรณีจัดตั้งบริษัททัวร์บังหน้าเพื่อฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทำให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ และเมื่อมีการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพและลดช่องว่างของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น

          กระทรวงแรงงาน ได้มีการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของ คนต่างด้าวอย่างเข้มงวด และจะดำเนินคดีทันทีหากพบผู้กระทำผิดอันเป็นการฝ่าฝืนตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อย่างไรก็ตาม งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยวมีลักษณะงานที่เป็นการเฉพาะ จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในการบังคับใช้กฎหมาย จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอาชีพมัคคุเทศก์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย

          กระทรวงยุติธรรม มีความพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อป้องกันปัญหาชาวต่างชาติใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพรางหรือนอมินี (Nominee) ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และป้องกันปัญหาบริษัทนำเที่ยวไม่เก็บค่าบริการขั้นต่ำหรือทัวร์ศูนย์เหรียญ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ ออกสุ่มตรวจผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในอนาคต แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 โดยตรง แต่หากมีข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีบุคคลต่างด้าว หรือผู้มีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนคนต่างด้าวในการประกอบอาชีพนำเที่ยวที่มีสินทรัพย์ตามงบแสดงฐานะการเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ย่อมสามารถมาร้องทุกข์ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องเพื่อดำเนินการได้

          ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือ ด่วนที่สุดที่ นร 0505/3068 กราบเรียนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน รายงานให้ทราบว่า รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง คุณภาพและการคุ้มครองอาชีพมัคคุเทศก์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 รับทราบตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมตลอดถึงความเห็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามหน้าที่และอำนาจให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบด้วยแล้ว

หัวข้อ
Download
การคุ้มครองอาชีพมัคคุเทศก์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
« เมษายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด
ลิงค์ที่น่าสนใจ เว็บไซต์องค์กรตามรัฐธรรมนูญ


   หน้าหลัก
    • ข่าวและประกาศ
    • ภาพกิจกรรม

   เกี่ยวกับเรา
    • ประวัติความเป็นมา                
    • โครงสร้างองค์กร 
    • ภารกิจ
    • บุคลากร

   วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน
    • เกี่ยวกับเรา                            
    • วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน 
    • ส่งบทความ
    • ข้อแนะนำการส่งบทความ
    • กองบรรณาธิการ
    • ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ
    • ติดต่อเรา

   ความร่วมมือ
    • ภายในประเทศ
    • ต่างประเทศ

   แผ่นพับ

   ติดต่อเรา
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550  อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 5 เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 แขวง ทุ่งสองห้อง เขต หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
หมายเลขโทรศัพท์ (สผศ.) : 0-2141-9383 และ 0-2141-9295 , หมายเลขโทรสาร (สผศ.) : 0-2143-9385
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์