สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินศึกษา
ผู้ตรวจการแผ่นดิน TH EN twitter สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน Youtube สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดิน
เรื่องร้องเรียนที่สำคัญ >> เรื่องร้องเรียน >> ศาสนาและวัฒนธรรม
ออกประกาศเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ ผู้ตรวจ ฯ และ เพิกถอนประกาศ คืนโบราณภาพเขียนสีให้ชมชน

วันที่ 26 ม.ค. 2566

                                      ออกประกาศเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ ผู้ตรวจฯ แนะ เพิกถอนประกาศ
                                                            คืนโบราณสถานภาพเขียนสีให้ชุมชน
    ผู้ร้องเรียนได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกรณีกรมศิลปากร ออกประกาศ เรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ตำบลลิดล - ตำบลยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้ลงนามประกาศดังกล่าวไว้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 และประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 นั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการโรงโม่หินหรืออุตสาหกรรมก่อสร้าง อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ ผู้ร้องเรียนจึงขอให้มีการแก้กฎหมาย กฎ หรือยกเลิกประกาศ ในเรื่องดังกล่าว
   พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งโบราณคดีซึ่งมีภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ถือได้ว่าเป็นมรดกสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของพื้นที่ โดยภาพเขียนสีบางภาพเกิดการพังทลายและเสียหายจากการที่ผู้ประกอบการเข้ามาดำเนินการใกล้พื้นที่เขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีอยู่หลายปี ดังนั้น การออกประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงโม่หินหรืออุตสาหกรรมก่อสร้างสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าว จึงส่งผลกระทบต่อภาพเขียนสีโดยตรง ซึ่งขัดต่อภารกิจและบทบาทหน้าที่ของกรมศิลปกร การแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานจากตำแหน่งเดิมออกไป 1 ใน 4 ของพื้นที่ จากพื้นที่โบราณสถานประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ลดลงเหลือประมาณ 697 ไร่ 75 ตารางวา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงโม่หินที่มีอยู่เดิมในพื้นที่สามารถดำเนินการยื่นขอประทานบัตรระเบิดหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้โดยไม่เป็นข้อจำกัดของกฎหมาย ประกอบกับหลักการและเหตุผลของประกาศดังกล่าวที่อ้างว่า พื้นที่จังหวัดยะลาและพื้นที่ใกล้เคียงประสบกับปัญหาเกี่ยวกับแหล่งหินอุตสาหกรรม เพราะแหล่งหินหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องใช้แหล่งหินจากพื้นที่ดังกล่าวแทน ซึ่งพื้นที่จังหวัดดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียงมิได้ขาดแคลนหินตามที่ประกาศกล่าวอ้างแต่อย่างใด
     ทั้งนี้ การลงนามแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานดังกล่าวของกรมศิลปากรได้ลงนามในวันสุดท้าย ที่รับราชการและต้องเกษียณอายุราชการตามกฎหมายในวันถัดไป เห็นได้ว่าเป็นการใช้อำนาจเพื่อหลีกเลี่ยงการคัดค้านของประชาชนในจังหวัดยะลาหรือในประเทศไทย และการส่งประกาศเพื่อไปประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา มีลักษณะล่าช้าเกินสมควรและไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง การออกประกาศดังกล่าวไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมการให้คำเสนอแนะหรือท้วงติงตามที่รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 25, 26, 41, 43 ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ และเป็นการฝ่าฝืนในหมวดหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 51, 53, 57 – 59 และมาตรา 61 และเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐตามมาตรา 71, 76 และมาตรา 77 นอกจากนี้ เป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2543 มาตรา 3/1 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แต่อย่างใด อีกทั้ง การออกประกาศดังกล่าวมีหลักการและเหตุผลในการออกประกาศเพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้างและลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้นั้น เห็นได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการโรงโม่หินหรืออุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 ที่กำหนดไว้
       จากข้อร้องเรียนข้างต้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้ขอให้อธิบดีกรมศิลปากรชี้แจงข้อเท็จจริงและ ส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียน โดยกรมศิลปากรได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ดังนี้
    1. โบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา กรมศิลปากรได้เข้าทำการสำรวจและประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2541 และได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในปี พ.ศ. 2544 มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ซึ่งทับซ้อนกับเขตที่มีการให้ประทานบัตร ทำเหมืองแร่หินเพื่ออุตสาหกรรม จำนวน 3 แปลง ที่มีมาก่อนประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และยังคงดำเนินกิจการทำเหมืองแร่หินมาโดยตลอดจนกระทั่งประทานบัตรสิ้นอายุ จึงทำให้ผู้ประกอบการมีหนังสือถึงอธิบดี กรมศิลปากรเพื่อขอให้พิจารณาแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา โดยขอให้กันเขตโบราณสถาน ออกจากเขตพื้นที่ที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแร่หิน
     2. ส่วนราชการได้มีหนังสือขอให้ทางกรมศิลปากรพิจารณาดำเนินการแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน จึงได้มีการพิจารณาทบทวนการกันเขตโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาออกจากเขตประทานบัตรเหมืองแร่ โดยพิจารณาผลกระทบของการระเบิดและย่อยหินจากรายงานผลการประเมินและวิเคราะห์ผลการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนและแรงอัดอากาศจากการระเบิดหินซึ่งไม่มีผลกระทบต่อโบราณสถานภาพเขียนสี เนื่องจาก มีระยะห่างจากโบราณสถานภาพเขียนสีและสามารถควบคุมค่าแรงสั่นสะเทือนและแรงอัดอากาศจากการระเบิดของเหมืองหินให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณสถานภาพเขียนสี ดังนั้น อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้สั่งการโดยอาศัยอำนาจมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ออกประกาศเรื่อง แก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ลงวันที่ 30 กันยายน 2562 ซึ่งได้กำหนดให้อำนาจอธิบดีกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน รวมทั้งกำหนดเขตที่ดินตามที่เห็นสมควรเป็นเขต ของโบราณสถาน และสามารถเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศได้
    3. ประชาชนในพื้นที่และองค์กรพัฒนาในภาคเอกชน ตลอดจนคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความคิดเห็นและแสดงความไม่พึงพอใจต่อการประกาศดังกล่าว ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2564 มาตรา 8 (4) บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการที่จะต้องคอยรับฟังความคิดเห็นและความพึงพอใจของสังคมโดยรวมและประชาชนผู้รับบริการเพื่อนำมาปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการ ให้เหมาะสม ดังนั้น กรมศิลปากรจึงได้พิจารณาทบทวนการประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ทั้งนี้ เนื่องจากการใช้สิทธิร้องเรียนของประชาชนที่มีต่อกรมศิลปากรเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 อีกทั้งโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ดังนั้น ประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมสามารถใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติในการอนุรักษ์ ทำนุบำรุง และฟื้นฟูให้คงอยู่สืบไป ประกอบกับการประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลาถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
      ในการนี้กรมศิลปากรโดยอธิบดีกรมศิลปากรชี้แจงว่า กรมศิลปากรได้พิจารณาทบทวนและ ดำเนินการเพิกถอนประกาศกรมศิลปากรฉบับดังกล่าวแล้ว โดยได้ออกประกาศกรมศิลปากร เรื่อง เพิกถอน การประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ตำบล ลิดล - ตำบลยะลา อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ให้มีพื้นที่ประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ตามเดิม เป็นที่เรียบร้อย โดยประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 และประกาศลงราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563
หัวข้อ
Download
ประกาศกรมศิลปากร
« เมษายน 2567 »
อา. จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส.
  1 2 3 4 5 6
7 8 9 10 11 12 13
14 15 16 17 18 19 20
21 22 23 24 25 26 27
28 29 30
ดูปฏิทินทั้งหมด
ลิงค์ที่น่าสนใจ เว็บไซต์องค์กรตามรัฐธรรมนูญ


   หน้าหลัก
    • ข่าวและประกาศ
    • ภาพกิจกรรม

   เกี่ยวกับเรา
    • ประวัติความเป็นมา                
    • โครงสร้างองค์กร 
    • ภารกิจ
    • บุคลากร

   วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน
    • เกี่ยวกับเรา                            
    • วารสารผู้ตรวจการแผ่นดิน 
    • ส่งบทความ
    • ข้อแนะนำการส่งบทความ
    • กองบรรณาธิการ
    • ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ
    • ติดต่อเรา

   ความร่วมมือ
    • ภายในประเทศ
    • ต่างประเทศ

   แผ่นพับ

   ติดต่อเรา
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550  อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 5 เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 แขวง ทุ่งสองห้อง เขต หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
หมายเลขโทรศัพท์ (สผศ.) : 0-2141-9383 และ 0-2141-9295 , หมายเลขโทรสาร (สผศ.) : 0-2143-9385
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์